หมวด : รีวิวเกมมือถือ เมื่อ :
กลายเป็นแฟรนไชส์หลักของ SEGA ไปแล้วสำหรับ Like a Dragon หรือที่ทุกคนรู้จักกันในชื่อ Yakuza เพราะพวกเขาปล่อยเกมออกมาเป็นรายปีเลยทีเดียว สลับกันไปกันมาระหว่างภาคหลักและสปินออฟ ครั้งนี้พวกเขากลับมาในชื่อ Like a Dragon: Pirate Yakuza in Hawaii ภาคที่มี “ธีมโจรสลัด” และการกลับมาของตัวละครที่ทุกคนรักอย่าง “มาจิมะ”
เมื่อนำสิ่งที่น่าตื่นเต้นอย่างโจรสลัด มารวมกับตัวละครเจ้าเสน่ห์อย่างมาจิมะซัง ตัวเกมจะออกมาสนุกสนานขนาดไหน ไปอ่านกันในรีวิวจากเรา Mustplay
เปิดรสใหม่ในจักรวาล แต่ไม่หวานอย่างที่คิด
เนื้อหาของ Like a Dragon: Pirate Yakuza in Hawaii จะเล่าถึงเหตุการณ์หลังภาค Infinite Wealth ไม่นาน หลังจากดรีมทีมจัดการลัทธิแห่งเกาะฮาวายไปเรียบร้อยแล้ว ความเสียหายต่าง ๆ ยังคงอยู่ และทีมงานยากูซ่าจากญี่ปุ่นต้องเป็นคนนั่งเคลียร์ความเสียหายที่เกิดขึ้นตามเกาะต่าง ๆ ข้างฮาวาย “มาจิมะ โกโร่” ก็เป็นหนึ่งในทีมงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้
แต่เมื่อพวกเขาจะกลับบ้าน ก็เกิดอุบัติเหตุขึ้นจนเรือแตก มาจิมะถูกซัดเข้าฝั่งบนเกาะที่ไม่รู้จัก แถมได้อาการความจำเสื่อมแถมมาด้วย งานนี้มาจิมะซังของเราจะต้องเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับการเป็นโจรสลัด รวมถึงตอบแทน “โนอา” เด็กหนุ่มที่ช่วยเขาในการออกผจญภัยไปพร้อม ๆ กันเพื่อท่องโลกกว้างด้วย
บอกตามตรงว่าจักรวาลของ Like a Dragon ทุก ๆ ภาค ไม่เคยมีเกมไหนมาก่อนที่ทำเนื้อหาแฟนตาซี หรือถ้ามีก็ยังอยู่ในหลักความเป็นจริงระดับหนึ่ง Pirate Yakuza in Hawaii เป็นภาคแรกที่พาเราออกไปท่องโลกที่ “เราไม่คิดว่ามี” โจทย์หลักของภาคนี้จึงเป็นความบ้าระห่ำ ที่เขาจะต้องทำให้มันไปสุดในทุก ๆ ด้านโดยไม่มีอะไรรั้งไว้ โดยจะต้องทำให้เรา “เชื่อ” ด้วยว่า ทุก ๆ อย่างมันเกิดขึ้นได้ในจักรวาลเดียวกันที่คิริว หรือทักคุง (ตัวเอก Judgment) อาศัยอยู่
แต่ด้วยความที่เนื้อหาของทั้งสองแฟรนไชส์หลักมันหนักไปทาง “ชีวิตจริง” มาก ทุกอย่างใน Pirate Yakuza in Hawaii จึงเหมือนโดนล็อคล้อให้ไปสุดไม่ได้ บอกได้ว่า “บ้าพอสมควร” แต่ก็ไม่มากพอที่ทำให้เรารู้สึกถึงคอนเซปต์ความบ้าของมาจิมะ โดยเฉพาะในช่วงกลางถึงช่วงท้าย ที่พฤติกรรมของมาจิมะซังไม่ได้ทำให้เรารู้สึกว่า เขาคือแมดแมน อย่างที่เรารู้จัก
ถ้าคุณรักมาจิมะ ภาคนี้จะพาคุณไปรียูเนียนกับสภาวะรอบตัวของเขา หลังจากที่เราเอียนกับคิริวมานาน ใครที่ชอบภาค 4-5 น่าจะชอบภาคนี้ได้ไม่ยาก แต่เนื่องจากตัวละครของมาจิมะนั้น มีอายุล่อไป 60 ปีแล้ว สูงกว่าคิริวอีก ทำให้ภาคนี้ไม่ได้ขยาย หรือวางปมอะไรกับตัวละครมากนัก ประมาณว่าให้เขาเล่าเรื่อง แต่จุดศูนย์กลางของเนื้อเรื่องไม่ได้อยู่ที่เขาโดยตรง
ซึ่งนี่ก็เป็นจุดอ่อนที่สำคัญอีกข้อ ปกติแล้ว Like a Dragon ถนัดเล่าเรื่องโดยใช้ตัวละครหลักเป็นจุดศูนย์กลาง และทำได้ดีมาตลอด ในภาคนี้เนื้อหาทั้งหมดเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราไม่รู้จัก และการใช้เวลาเพียงเล็กน้อยไม่ได้ทำให้เราอินกับมันมากเท่าไหร่ ความน่าติดตามในลำดับเนื้อเรื่องของภาคนี้จึงไม่เท่าภาคอื่น ๆ ที่เคยทำมา และเนื่องจากมันบ้าแต่บ้าไม่สุด เราจึงไม่ได้รู้สึกดีเท่าไหร่นักกับเนื้อหาของภาคนี้ ถ้าใครเคยเล่นภาค 3 จบแล้วคงพอเข้าใจ มันให้อารมณ์ที่คล้าย ๆ กัน คือจะกลับก็ไม่ได้ จะไปให้สุดก็ไม่ถึง
ก้าวข้ามความเป็นยากูซ่า สู่โจรสลัด
ใครมันจะคิดว่า “โจรสลัด” จะมาผสมรวมกับ “ยากูซ่า” ได้ แต่สุดท้ายมันก็มารวมกันในเกมนี้ ต้องยอมใจคนถอดคีย์เวิร์ดที่นำความเป็นแก๊งสเตอร์ มาตีความยากูซ่าของญี่ปุ่นให้โกอินเตอร์ได้ เมื่อเราพิจารณาดี ๆ ความเป็นองค์กรของทั้งสองสิ่งมันก็คล้าย ๆ กัน ทำให้โจรสลัดในเกมนี้ค่อนข้างเข้าใจง่ายกว่าที่คิด
การออกแบบโลกในยุคโมเดิร์นที่เต็มไปด้วยโจรสลัดเดินเรือนั้นทำออกมาได้ เอ่อ… ต้องบอกว่าแฟนตาซีก็ไม่ใช่ สมจริงก็ไม่เชิง เพราะนอกจากโกโรมารุ (เรือเรา) แล้ว ก็ไม่ได้มีเรือลำไหนที่เบียวมากจนประกอบมาจากไม้ทั้งลำเหมือนเรา มันยังมีเรือยอร์ช เรือขนส่งสินค้า และเรืออื่น ๆ ที่มีอยู่จริง ลอยลำไปมาอยู่ในน่านน้ำ ทุกอย่างจะได้ไม่ดูหลุดจักรวาลจนเกินไป
สิ่งที่เราชอบในเกมนี้ คือเขาออกแบบน่านน้ำได้ดีจนไม่รู้ว่าเพิ่งทำครั้งแรก คือเราไม่รู้ว่า Dragon Engine ที่ใช้มันยืดหยุ่นมากขนาดไหน แต่ถ้ามันทำได้ขนาดนี้ อนาคตเราน่าจะได้เล่นเกมแฟนตาซีสักเกมของค่ายนี้แน่นอน เพราะมันยอดเยี่ยมไม่แพ้คามุโรโจหรือเมืองอื่น ๆ ในญี่ปุ่นที่เราเคยสัมผัสเลย
อีกเรื่องคือการ Customization ที่ละเอียดอ่อนมากขึ้น เราสามารถปรับแต่งทรงผม ไฮไลท์ เสื้อผ้า เครื่องประดับ ทุก ๆ อย่างของตัวละครได้เป็นครั้งแรกของซีรีส์ และสามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องเล่นโหมด Premium Adventure ซึ่งนี่ถือเป็นฟีเจอร์ที่ผมชอบที่สุดของภาคนี้ และหวังว่าในภาคต่อไปของแฟรนไชส์ ระบบนี้จะยังอยู่กับเราโดยไม่เอาออกไปไหน เพราะไม่ว่าใครก็อยากแต่งตัวทั้งนั้น โดยเฉพาะคนบ้าอย่างมาจิมะซัง
แต่ถึงแม้สิ่งที่เพิ่มเข้ามาจะทำได้ดี แต่การใช้ฮาวายเป็นฉากหลังเหมือน Infinite Wealth ทำให้รายละเอียดหลาย ๆ อย่างถูกรียูส และมันถูกรียูสอย่างไร้ประสิทธิภาพพอสมควร ยกตัวอย่างเช่น มินิเกมใน Infinite Wealth จะให้รางวัลที่ไม่เหมือนกัน แถมยังคุ้มค่า ทำให้คุณจะต้องวิ่งไล่ล่าหาวิธีพิชิตมันอย่างไม่ลดละ เพื่อรางวัลที่หาจากที่ไหนไม่ได้ แต่ในภาคนี้ รางวัลที่ได้คือแต้ม Pirate ที่สะสมได้จำนวนมากจากที่อื่น ไม่จำเป็นต้องเล่นมินิเกมด้วยซ้ำ ทำให้ความสำคัญของมันลดน้อยลงไปพอสมควร
แฟนเซอร์วิสเพื่อคนรักมาจิมะ
ถ้าคุณชื่นชอบเกมเพลย์แบบสงครามแก๊งที่มีใน The Man Who Erased His Name ภาคนี้มีการปรับปรุงให้แก๊งวอร์กลายเป็นสงครามระหว่างโจรสลัดสองกลุ่ม ส่วนใหญ่เกมจะเน้นโยนศัตรูจำนวนมากตั้งแต่ 10-20 คนเข้ามาในฉาก และให้เราจัดทีมไปใส่กันให้ยับ ซึ่งตรงนี้เราถือว่าเป็นไฮไลท์ของเกม เนื่องจากมันสนุกแบบมั่วบ้านงาน เดี๋ยวโดนปืนใหญ่ยิง เดี๋ยวโดนระเบิดปา มั่วไปหมด ล้มระเนระนาดทั้งคนทั้งบอท
ซึ่งตรงนี้ต้องขอบคุณสไตล์การต่อสู้ของมาจิมะในเกมที่ ที่ทีมพัฒนาเขาปรับจนมันสนุกจนถึงขั้นบ้า โดยเฉพาะ Sea dog ที่มีทั้งปืน ทั้งดาบ แถมยังมีตะขอเกี่ยวอีก ทำให้คุณสามารถเคลียร์ศัตรูทั้งเดี่ยว หมู่ ใกล้ ไกล ได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนอะไรไปมา ส่วน Mad Dog ก็เป็นสไตล์ที่เล่นสนุก และพาเราให้กลับไปคิดถึงภาคเก่า ๆ ได้ดีทีเดียว
การต่อสู้ทางเรือก็ทำได้ดี คือทำได้เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อนมากทั้งการบังคับและการต่อสู้ เรื่องนี้ต้องชมมาก ๆ เนื่องจากภาคนี้เป็นภาคแรกที่มีการต่อสู้ทางเรือ และเราคิดว่าเขาไม่น่าใส่มาแล้วแหละ ภาคนี้ภาคเดียวจบ แต่เขาก็ยังทำออกมาได้กลมกล่อม มีมาตรฐาน แต่ถามว่ามันท้าทายขนาดนั้นไหม ก็ต้องบอกว่ายังไม่ท้าทายขนาดนั้น ช่วงท้ายเกมถ้าใครต่อสู้ทางเรือบ่อย ๆ อาจจะมีเบื่อ ๆ บ้างเพราะมันไม่ค่อยหลากหลายเท่าไหร่
จูนมาดี เครื่องไหนก็เล่นได้
เรื่องประสิทธิภาพ Like a Dragon: Pirate Yakuza in Hawaii เป็นเกมที่กินสเปกน้อยมาก เพียงใช้การ์ดจอระดับ RTX 3060 ขึ้นไป ก็น่าจะปรับภาพสุดทุกอย่างได้โดยไม่มีปัญหา แต่อุปกรณ์ที่เราใช้เล่นคือ ROG Ally ทำให้ไม่ได้ปรับภาพสุดขนาดนั้น โดยจะปรับภาพที่ปานกลางในระดับไฟ 22w ซึ่งต้องบอกว่าเซอร์ไพรส์มาก เพราะเล่นเกมนี้ได้โดยไม่มีปัญหาด้านประสิทธิภาพเลย อาจจะมีเฟรมเรทตกอยู่บ้างในช่วงเดินเรือ แต่ยังสามารถเล่นได้โดยไม่มีอะไรร้ายแรงเกิดขึ้น
ไม่ใช่ภาคที่ดีที่สุด แต่ “บ้า” ที่สุด
Like a Dragon: Pirate Yakuza in Hawaii เป็นการชิมลางรสชาติใหม่ ๆ ในจักรวาล Like a Dragon ที่น่าสนใจอย่างมาก ตัวเกมมีข้อดีหลาย ๆ อย่างที่น่ายกย่อง เช่นระบบการเล่นที่สดใหม่ แต่ด้วยจุดอ่อนร้ายแรงในเนื้อหาหลัก ทำให้มันไปได้ไม่สุดเท่าไหร่นัก ถ้าคุณเป็นแฟนซีรีส์นี้ นี่คือจดหมายรักที่ดีสำหรับมาจิมะซัง แต่ถ้าคุณจะเริ่มเล่นภาคนี้เป็นภาคแรก เราแนะนำว่า ให้หยุดก่อนจะดีกว่า…
ข้อดี-ข้อด้อย
+ แฟนเซอร์วิสสำหรับคนรักมาจิมะซัง
+ ช่วยล้างปากจากความเหนื่อยล้าในซีรีส์ได้ดี
- พล็อตเข้าขั้นอ่อนปวกเปียก ไม่น่าติดตาม
- การรียูสจำนวนมากที่ไม่สมเหตุสมผล